ชื่องานวิจัย : เว็บแอปพลิเคชันสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงคลังและวางแผนการสั่งซื้อ
(Web Application for Inventory Management and Order Planning)

ดร. สุนันท์ ธาติ

นายพชร เดชาสิริบูรณ์

นางสาวสุธัญญา  หลำพึ่ง

นางสาวจุฬาลักษณ์  พูลชัยนาท

รายละเอียดผลงาน

การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าต้องมีความพร้อมในหลายด้าน เช่น ด้านการเงิน และการหาทำเลที่ตั้งเพื่อให้เหมาะสม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจขนาดใหญ่จะต้องมีคลังสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการเก็บรักษาสินค้าในปริมาณมาก ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางจะมีคลังสินค้าที่เล็กกว่า แต่ต้องเพียงพอในการรองรับปริมาณสินค้าที่จะถูกสั่งซื้อ ธุรกิจที่มีการสต๊อกสินค้าจะต้องใช้ระบบการจัดการคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตรวจสอบปริมาณสินค้าในสต็อกได้ และลดปัญหาสินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหว  (Dead Stock) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น การนำเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยในการจัดการสินค้าคงคลังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ควรพิจารณาในธุรกิจทุกๆขนาด 

คณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงคลัง โดยเว็บแอปพลิเคชันสามารถอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บสินค้า และลดปัญหาสินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหว (Dead Stock) โดยระบบมี 2 ส่วนการทำงานหลัก ดังนี้ 

  1. ระบบการบันทึกและติดตามประวัติเคลื่อนไหวของสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกและติดตามประวัติการเคลื่อนไหวของสินค้าคงคลังได้ง่ายและรวดเร็ว ควรรวมถึงการบันทึกการสั่งซื้อสินค้า การรับสินค้าเข้าคลัง การจำหน่ายสินค้าออก และการย้ายสินค้าระหว่างคลัง 
  2. ระบบรายงาน และแดชบอร์ด (Dashboard) ซึ่งสามารถแสดงสถานะ และความเคลื่อนไหวของสินค้าคงคลังในรูปแบบ Real-time ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และรวดเร็ว รวมถึงมีความสามารถในวิเคราะห์ และคาดการณ์ความต้องการของสินค้าคงคลัง นำเสนอข้อมูล และสถานะของสินค้าคงคลังในรูปแบบกราฟ และข้อมูลที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์ และคาดการณ์ความต้องการของสินค้าคงคลังในอนาคต ซึ่งช่วยให้คุณสามารถวางแผนการจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการมีสินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหว (Dead Stock) 

 ระบบรายงานและวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบของ แดชบอร์ด (Dashboard) ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีรายละเอียดการแสดงผล ดังต่อไปนี้ 

  1. การแสดงผลสินค้าทั้งหมดภายในร้านเพื่อให้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้า เช่น จำนวน รุ่น ชื่อแบรนด์สินค้า สี และราคา 
  2. การแสดงยอดจำหน่ายทั้งหมดภายในร้าน 
  3. การแสดงผลสินค้าที่ขายดีทั้งหมดภายในร้าน 
  4. การแสดงผลการพยากรณ์ยอดจำหน่ายสินค้าภายในร้านล่วงหน้า การคาดการณ์หรือประมาณการจำนวนหรือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านจะจำหน่ายได้ 
  5. การแสดงผลปริมาณสินค้าคงคลังของจักรยาน อะไหล่และชุดจักรยานเพื่อให้พนักงานหรือผู้ประกอบการทราบถึงปริมาณของสินค้าที่คงอยู่ในคลังสินค้าและมีวิธีจัดการเคลียร์สินค้าที่ค้างสต๊อก เช่น การทำโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายระยะสั้น สร้างฐานลูกค้าเพื่อเพิ่มลูกค้าใหม่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้าน